วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

การปลูกแก้วมังกร

การปลูกแก้วมังกร
         ลักษณะของต้นแก้วมังกร - แก้วมังกร หรือลูกมังกร (Dragon Fruit) เป็นพืชตระกูลเดียวกับตะบองเพชร ในตระกูล Hylocereus spp. ลำต้นสีเขียวดั่งมังกรจึ่งเรียกต้นของมันว่า ต้นมังกรเขียว(Green Dragon) เมื่อออกผลมาดูคล้าย “ลูกแก้ว” มีลักษณะลำต้นอวบน้ำเป็นแฉกสามแฉก มี หนามกระจุกอยู่ที่ข้างตาเป็นช่วง ๆ มีลักษณะคล้ายต้นโบตั๋น แต่ต้นโบตั๋นใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพราะดอกของโบตั๋นหลังจากบานแล้วจะเหี่ยวและร่วงหล่นไป โดยไม่มีผลติดอยู่
 ข้อควรระวังในการเลือกซื้อพันธุ์แก้วมังกร ด้วยความคล้ายคลึงกันของแก้วมังกรและโบตั๋น จึงทำให้มีพ่อค้าจอมโกงบางคนนำกิ่งพันธุ์ของต้นโบตั๋นมาขาย โดยอ้างว่าเป็นกิ่งพันธุ์ของต้นแก้วมังกรดังนั้น จึงเป็นข้อควรระวังสำหรับผู้ที่กำลังหากิ่งพันธุ์มาปลูก
 ลักษณะดอกและผลแก้วมังกร เมื่อดอกบานเต็มที่จะเหี่ยวและร่วงหล่นโดยส่วนโคนดอกจะเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว และยาวประมาณ 4 – 6 นิ้ว มีน้ำหนักระหว่าง 200 – 500 กรัม เปลือกมีสีสันสดใส สีแดงอมชมพู โดยมีบางส่วนของกลีบดอกเล็ก ๆ ติดอยู่ที่ผลสีเขียว ทำให้ดูสวยงามสะดุดตา เมื่อผ่าผลออกมาจะพบว่าเนื้อในมีสีขาวขุ่น ภานในมีเมล็ดเล็ก ๆ สีดำคล้าย เมล็ดงาดำหรือแมงลักฝังตัวกระจายอยู่ทั่วไป เป็นจำนวนมาก
 การปลูกแก้วมังกร แก้วมังกรเป็นไม้เลื้อยลำต้นอ่อนจำเป็นต้องมีหลักให้ลำต้นเกาะยึดซึ่งหลักจะเป็นไม้เนื้อแข็งหรือเสาซีเมนต์ก็ได้ ถ้าใช้ท่อซีเมนต์เป็นเสาซึ่งรูปทรงกลมภายในกลวงแต่เทปูนไว้ก้นท่อเพื่อไว้ใส่น้ำหล่อเลี้ยงให้เสามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝังท่อซีเมนต์ลงในดินประมาณ 40 –50 ซม. ต้องสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 –2 เมตร ด้านบนของเสาทำเป็นร้านให้กิ่งเกาะแผ่ขยายออกไประยะปลูก 3 x 3 เมตร เตรียมหลุมขนาด 30x30x30 ซม. รอบ ๆ หลัก หลักละ 4 หลุม สำหรับปลูกหลุมละ 1 ต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักเก่า 1 ปุ้งกี๋ เมื่อนำกิ่งพันธุ์ลงหลุมแล้วมัดกิ่งพันธุ์ให้แนบหลักและกันแดดให้ 1 –2 สัปดาห์
 การให้ผลผลิต ต้นแก้วมังกรที่เติบโตจากการใช้กิ่งปักชำเมื่ออายุได้ประมาณ 8 –10 เดือน จะให้ผลผลิต การเริ่มออกดอก จะออกบริเวณปลายกิ่ง มีลักษณะคล้ายดอกโบตั๋น คือมีสีเหลืองอมชมพูซึ่งสวยงามมาก จะบานในเวลากลางคืน อยู่ได้ประมาณ 2 –3 วัน จะเหี่ยวและร่วงไป เหลือผลที่มีกลีบเลี้ยงหุ้มหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ผลจะแก่และเก็บเกี่ยวได้ โดยปกติใน 1 ปี ต้นแก้วมังกรจะให้ผลผลิตได้ประมาณ 4 รุ่น ตั้งแต่ พฤษภาคมถึง สิงหาคม ของทุกปี ต้นแก้วมังกรจะเริ่มให้ดอกชุดแรกในเดือนมีนาคมและดอกชุดสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม ลูกแก้วมังกรที่เก็บเกี่ยวจากต้นแล้วถ้านำมาใส่ถุงพลาสติกแล้วแช่เย็นจะสามารถเก็บรักษาได้ประมาณ 15 วัน โดยไม่เหี่ยวและเป็นการเพิ่มความหวานให้กับผลด้วย
 การดูแลรักษาระหว่างปลูก โดยทั่วไปการปฏิบัติดูแลรักษาระหว่างปลูกค่อนข้างสะดวกเพราะเป็นพืชทนแล้วจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำมากเหมือนไม้ผลอื่น ๆ แต่ก็ควรหาเศษหญ้าแห้ง ฟาง หรือ แกลบเป็นวัสดุคลุมโคนต้นไว้เพื่อช่วยรักษาความชื้นของดินและป้องกันวัชพืชให้ปุ๋ยคอก เสริมด้วยปุ๋ยเคมี 2 – 3 เดือนต่อครั้ง โดยให้ปุ๋ยคอกหลักละประมาณ 1 ปุ้งกี๋ ส่วยปุ๋ยเคมีควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลักละ 1-2 ช้อนแกง และอาจมีการให้ปุ๋ยเคมีทางน้ำเสริมโดยเติมสาหร่ายทะเลสกัดทั้งนี้ ควรสังเกตความเจริญและการให้ผลของต้นแก้วมังกร ถ้าต้นยังงอกงามและให้ผลผลิตดี ก็ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยมากเกินไป
 โรคและแมลงที่สำคัญ ยังพบไม่มากจะมีเพียงมดและนกเท่านั้นสำหรับมดเมื่อพบว่ามีมากอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้ปลูกได้ จึงจะใช้วิธีกำจัดโดยใช้สารเคมีฉีดพ่นพร้อมทั้งสารจับใบ ส่วนนกนับว่าเป็นศัตรูที่สำคัญไม่น้อย เพราะนกจะเข้าจิกทำลายในขณะที่ผลกำลังใกล้แก่ ซึ่งวิธีป้องกันทำได้โดยการห่อผล

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พันธุ์ข้าวโพด

ข้าวโพดพันธุ์ดีควรมีลักษณะดังนี้

1. .ให้ผลผลิตสูง  อาจจำเพาะสภาพพื้นที่ปลูก (specific location)หรืออาจมีเสถียรภาพสำหรับทุกพื้นที่ปลูก(stabilized location)
2. มีลักษณะทางสัณฐาน(morphology) ที่ดี เช่น ทรงต้นเตี้ย ตำแหน่งฝักต่ำ หักล้มน้อย ใบตั้งรับแสง ระบบรากแข็งแรง และขนาดช่อดอกตัวผู้เล็ก
3. มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ฝักใหญ่ ซังเล็ก น้ำหนักเมล็ดมาก กาบหุ้มปลายฝักมิด และลำต้นยังคงความสด(stay green) ในระยะแก่
4. ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง  ระยะออกไหมและดอกตัวผู้บานใกล้เคียงกัน และมีการฟื้นตัวได้เร็วเมื่อได้รับน้ำเพิ่มขึ้นหลังจากสภาพความแห้งแล้ง
5. ทนต่อการใช้อัตราปลูกสูง ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ย และทนต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
6. ต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูสำคัญ
7. มีอายุการเก็บเกี่ยวเหมาะสมต่อระบบการปลูกพืช

พันธุ์ข้าวโพดที่มีการปลูกหรือผลิตได้ในแหล่งปลูกข้าวโพดของไทย ได้แก่

พันธุ์ผสมเปิด (open-pollinated variety) มีหลายพันธุ์ เช่น

สุวรรณ 1 เป็นพันธุ์ผสมเปิด ได้จาการผสมรวมของพันธุ์ดีเด่น 36 พันธุ์ เป็นพันธุ์จากหมู่เกาะแคริบเบียน 16 พันธุ์ ประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง 6 พันธุ์ อเมริกาใต้  5 พันธุ์ อินเดีย  5 พันธุ์ และจากแหล่งอื่นๆ 4 พันธุ  โดยนำมาปลูกและปล่อยให้ผสมกันเอง  4 ชั่ว เพื่อให้เชื้อพันธุ์คลุกเคล้ากันดี  แล้วเรียกพันธุ์นี้ว่า ไทยคอมโพสิต เบอร์ 1 (Thai Composite #1) หลังจากนั้นคัดเลือกแบบวงจรเอส 1 (S1 recurrent selection) 3 ชั่ว เพื่อปรับปรุงลักษณะต่างๆ เข่น  ผลผลิต ความสูง อายุการเก็บเกี่ยว และการหักล้ม จนได้พันธุ์คอมโพสิตเบอร์ 1 (S) C3 พันธุนี้ไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง จึงนำพันธุ์ฟิลิปปินส์ ดีเอ็มอาร์ 1 และ 5 (Philippines DMR 1 และ dMR 5) ซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง มาผสมกับพันธุ์ไทยคอมโพสิตเบอร์ 1 (S) C1 เพื่อเป็นแหล่งของความต้านทาน เลือกจนได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูงต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ทางราชการประกาศเป็นพันธุ์ส่งเสริม ใน พ.ศ. 2518 มีชื่อว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 719-1040 กิโลกรัมต่อไร่ ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมกว้าง มีความสูงต้นเฉลี่ย 1.90 เมตร ความสูงฝักเฉลี่ย 1.04 เมตร ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างและโรคที่ทำลายใบอื่นๆ มีอายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน และเมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง

สุวรรณ 2 เป็นพันธุ์ผสมเปิดที่มีบรรพบุรุษเหมือพันธุ์สุวรรณ 1 ลักษณะเด่นคือเป็นพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น (90-100 วัน) ให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 1  ร้อยละ 20-30 มีความสูงต้นและความสูงฝักต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 สามารถปลูกจำนวนต้นต่อพื้นที่ได้มากกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 โดยมีการหักล้มของต้นน้อย ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดี และเมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง ปัจจุบันแนะนำให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้าวโพด (Corn) Zea mays L.



ข้าวโพด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zea mays L.

การจำแนกชนิดข้าวโพด
จำแนกตามคุณสมบัติของแป้งในเมล็ด  ภายในเมล็ดข้าวโพดประกอบด้วยแป้ง 2 ชนิด คือ แป้งแข็ง(hard starch) และแป้งอ่อน (soft starch) จึงสามารถจำแนกโดยอาศัยตำแหน่งขแงแป้งแต่ละชนิดและลักษณะของเปลือกหุ้มเมล็ดได้เป็น 7 ชนิด คือ

1. ข้าวโพดป่า (pod corn) เป็นข้าวโพดเก่าที่ปลูก ในบริเวณถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางและใต้  เมล็ดข้าวโพดป่าทุกเมล็ดจะเปลือกหุ้มเมล็ดอย่างมิดชิดเหมือนกับเมล็ดหญ้า และยังมีเปลือกหุ้มฝักอีกชั้นหนึ่ง  เมล็ดมีสีต่างๆหรือเป็นลาย ลักษณะที่กล่าวมานี้ถูกควบคุมด้วยยีน TU ที่อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 4

2. ข้าวโพดคั่ว(pop corn) เป็นข้าวโพดที่เมล็ดมีแป้งแข็งที่อัดกันอย่างแน่นมาก  มีแป้งอ่อนเป็นองค์ประกอบเล็กน้อย ลักษณะรูปร่างของเมล็ดแบ่งเป็น 2 พวก คือพวกที่มีรูปร่างเรียวแหลมคล้ายเมล็ดข้าวเรียกว่า rice pop corn และพวกที่มีลักษณะเมล็ดกลมเรียกว่า pearl pop corn เมื่อเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้ได้รับความร้อนระดับหนึ่งแป้งจะขยายตัวสร้างความดันขึ้นมาภายในจนกระทั่งเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาแตกออก  ปริมาตรของแป้งจะเพิ่มขึ้น 20-30 เท่า ข้าวโพดคั่วจัดอยู่ใน subspecies everta

3. ข้าวโพดหัวแข็ง(flint corn ) เป้นข้าวโพดที่ด้านบนของเมล็ดมีแป้งแข็งเป็นองค์ประกอบ  ส่วนแป้งอ่อนจะอยู่ภายในตรงกลางเมล็ดหรืออาจไม่มีเลย เมื่อเมล็ดแห้งจะไม่มีรอยบุบด้านบน  ลักษณะดังกล่าวนี้ถูกควบคุมด้วยยีนเด่น Fl บนโครโมโซมคู่ที่ 2 ข้าวโพดหัวแข็งจัดอยู่ใน subspecies indurata
เมล็ดมีสีต่างๆ เช่น เหลือง เหลืองส้ม ขาวและดำ

4. ข้าวโพดหัวบุบ(dent corn) เป้นข้าวโพดที่มีส่วนของแป้งอ่อนอยู่ด้นบนของเมล็ด  ส่วนแป้งแข็งจะอยู่ด้านล่างและด้านข้าง  เมื่อข้าวโพดแก่เมล็ดสูญเสียความชื้นทำให้แป้งอ่อนด้านบนหดตัวเมล็ดจึงเกิดรอยบุบ ข้าวโพดชนิดนี้จัดอยู่ใน subspecies indentata

5. ข้าวโพดแป้ง (flour corn) เป็นข้าวโพดที่มีองค์ประกอบเป็นแป้งอ่อนเกือบทั้งหมด  มีแป้งแข็งเป็นชั้นบางๆ อยู่ด้านในเมล็ด เมื่อข้าวโพดแก่การหดตัวของแป้งในเมล็ดจะเท่าๆกัน  ทำให้เมล็ดมีรูปร่างเหมือนข้าวโพดหัวแข็ง  แต่มีลักษณะทึบแสง (opaque) ลักษณะนี้ถูกควบคุมด้วยยีนด้อย fl ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 2 ข้าวโพดแป้งจัดอยู่ใน subspecies amylacea

6. ข้าวโพดหวาน (sweet corn) เป็นข้าวโพดที่น้ำตาลในเมล็ดเปลี่ยไปเป็นแป้งไม่สมบูรณ์ เมล็ดจึงมีความหวานมากกว่าข้าวโพดชนิดอื่นๆ เมล็ดเมื่อแก่จะเหี่ยวย่น ลักษณะของข้าวโพดหวานถูกควบคุมด้วยยีนด้อยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม sugary(su) อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 4 shrunken 2 (sh2) อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 3 และยีน brittle(bt) อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 5 ข้าวโพดหวานจัดอยู่ใน subspecies saccharata

7. ข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn) เมล็ดประกอบด้วยแป้งอ่อนที่มีความเหนียว เนื่องจากองค์ประกอบของแป้งส่วนใหญ่เป็นอะมิโลเปกติน (amylopectin) เมื่อเปรียบเทียยบสัดส่วนของอะมิโลเปกตินกับอะมิโลส(amylose) มีปริมาณร้อยละ 73:27 ลักษณะนี้ถูกควบคุมด้วยยีนด้อย wx บนโครโมโซมคู่ที่ 9 ข้าวโพดนี้จัดอยู่ใน subspecies ceratina

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปุ๋ยอินทรีย์(organic fertilizer)

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบและเป็นสารปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น มีแหล่งกำเนิดจากสารอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด เป็นต้น
ปุ๋ยคอก ได้แก่ มูลสัตวืต่างๆ ที่อยู่ในรูปของเหลวและของแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นมูลสัตว์เลี้ยง เช่น มูลวัว ไก่ เป็ด และสุกร เป็นต้น  มูลสัตว์เหล่านี้จะประกอบด้วยอุจจาระและปัสสาวะของสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนของซากพืชและสัตว์ที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายจากระบบย่อยของสัตว์  ปัสสาวะก้จะเป็นส่วนประกอบของเกลือและสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืช  ธาตุอาหารพืชจากปุ๋ยคอกจะมีปริมาณน้อย  และอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ

ปัจจัยที่ควบคุมความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชจากปุ๋ยคอก มีดังนี้ คือ

1. ชนิดของอาหารที่สัตว์บริโภค สัตว์ที่บริโภคสัตว์เป็นอาหาร เช่น แมลง ปลา และหอย  จะมีธาตุอาหารพืชในมูลที่ขับถ่ายออกมามากกว่ามูลสัตว์ที่บริโภคพืชเป็นอาหาร เช่น มูลนกและค้างคาว มูลสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์ปีก จะมีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบมากกว่ามูลจากสุกร วัว และช้าง เป็นต้น
2. สัดส่วน คาร์บอน/ไนโตรเจน ของปุ๋ยคอก จะเป็นคุณสมบัติของปุ๋ยคอกที่บอกถึงองค์ประกอบทางเคมี ปุ๋ยคอกที่มาจากสัตว์ที่บริโภคพืชเป้นอาหาร จะมี คาร์บอน/ไนโตรเจน สัดส่วนที่กว้าง แสดงว่ามีปริมาณธาตุไนโตรเจนน้อย  และเนื่องจากมีซากพืชในรูปของคาร์บอน (C) เป็นองค์ประกอบในมูลสัตว์เหล่านั้น แต่มูลค้างคาวและมูลนกมีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณที่สูง จึงพบว่ามีสัดส่วนคาร์บอน/ไนโตรเจนที่แคบกว่า
3. อายุสัตว์ สัตว์ที่มีอายุน้อยจะมีการย่อยสลายและการดูดซึมธาตุอาหารดี จึงทำให้มูลสัตว์มีธาตุอาหารน้อย แต่ในสัตว์อายุมาก การย่อยสลายและการดูดซึมธาตุอาหารจะมีน้อย จึงทำให้มูลสัตว์อายุมากมีธาตุอาหารติดมามาก
4. วัสดุรองพื้นคอก ควรเลือกใช้วัสดุที่มี คาร์บอน/ไนโตรเจนแคบหรือต่ำ เช่น หญ้าขน ผักตบชวา ปอเทือง เปลือกมันสำปะหลัง ต้นข้าวโพด เปลือกถั่วลิสง ฟางข้าวตามลำดับ โดยหญ้าขนจะมี C/N กว้างมาก ถ้าใช้ข้าวโพดอาจใช้ 1/4 ของปริมาณมูลสัตว์ทั้งหมดที่ถ่ายออกมา (ทั้งของเหลวและของแข็ง)วัสดุรองพื้นคอกต้องดูดซับธาตุอาหารที่อยู่ในของเหลวของสัตว์ได้ดี พวกธัญพืช ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ตอซังข้าว จะดูดซับน้ำได้ประมาณ 2-3 เท่าของน้ำหนักแห้ง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปุ๋ยชีวภาพ(Biofertilizer)

การใช้ปุ๋ยชีวภาพในประเทศไทย

ปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) หมายถึง วัสดุที่มีเชื้อจุลินทรีย์เป็นตัวอออกฤทธิ์ (Active ingreddient) ในการก่อให้เกิดปฏิกิริยา  เพื่อการทำให้พืชได้รับธาตุอาหารที่ต้องการ  เช่น เชื้อไรโซเบียมจะต้องมีแบคทีเรียในสกุลไรโซเบียมเป็นตัวการสำคัญ  ซึ่งเมื่อใส่ลงไปในดินพร้อมกับปลูกถั่วก็จะเข้าไปสร้างปมที่รากถั่ว  ช่วยให้ถั่วใช้ธาตุไนโตรเจนในอากาศเป็นปุ๋ยได้  หรือเชื้อราไมโคไรซ่า  จะเข้าสู่รากพืชและช่วยดูดซับธาตุอาหารในดิน  โดยเฉพาะฟอสฟอรัสให้พืชใช้ในการสร้างการเจริญเติบโตได้  จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นปุ๋ยชีวภาพ  จึงแบ่งได้  2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ  กลุ่มที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศ (Biological Nitrogen Fixation  หรือ  BNF)  และกลุ่มที่ช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารพืชได้รับธาตุอาหารอื่นๆที่นอกเหนือจากไนโตรเจนในอากาศ

การใช้ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว

ปุ๋ยชีวภาพเป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำเอาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชมาเพาะเลี้ยงจำนวนมากๆแล้วเติมลงในดินที่จะเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อให้จุลินทรีย์ที่ต้องการเหล่านี้เจริญเติบโตเพิ่มปริมาณและส้รางสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อดิน  ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์  จุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำปุ๋ยชีวภาพสำหรับนาข้าว คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน คือ พืชชั้นต่ำที่มีขนาดเล็กมาก  ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ด้วยกำลังขยาย 400 เท่า  จะเห็นลักษณะพิเศษของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว  เป็นลักษณะเส้นสาย  ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เล็กๆ  จำนวนมาก  เซลล์ส่วนใหญ่จะมีสีน้ำเงินแกมเขียว  เรียกว่าเซลล์พื้นฐานของสาหร่าย ทำหน้าที่หาแร่ธาตุอาหารพืชและสามารถปรุงอาหารได้เองโดยการสังเคราะห์แสง  และมีเซลล์พิเศษเรียกว่า  เฮเทอโรซีส (Heterocyste) นั้นแทรกอยู่ในระยะเซลล์นี้  มีลักษณะสีจางและมีผนังเซลล์หนาเห็นได้ชัด  เซลล์มีหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศจากรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นสารประกอบไนโตรเจน  โดยมีเอนไซม์ที่มีชื่อว่า  ไนโตรจีเนส  ทำหน้าที่นี้โดยอาศัยพลังงานแสงแดดร่วมในกระบวนการ  ส่วนเซลล์อีกพวกหนึ่ง คือ เซลล์ที่เรียกว่า อะคีเนต (Akinate)  หรือสปอร์  ทำหน้าที่สืบพันธุ์  มีความสามารถพิเศษในการทนสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม  เช่น ทนความแห้งแล้ง  ทนแล้ง  และทนหนาวได้ที  เมื่อได้รับสภาพเหมาะสมก้จะออกเป็นสาหร่ายเส้นใหม่

ชนิดของสาหร่ายที่จะนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1. เจริญเติบโตได้รวดเร็วและสามารถเพาะเลี้ยงได้ในปริมาณมาก
2. สามารถตรึงไนโตรเจนและปลดปล่อยสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นข้าวได้ดี
3. ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี  ขึ้นได้ดีในนาทุกแห่ง
4. มีความคงทนต่อสารเคมีทางการเกษตร เช่น ยาปราบศัตรูพืช ยาปราบวัชพืช

ปุ๋ยชีวภาพโดยทั่วไปประกอบด้วยสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว 6 สายพันธุ์ ได้แก่  Anabena  sp., Calothrix  sp., Cylindrospermum  sp., Nostoc  sp., Scytonema  sp. และ Tolypothrix  sp.

ที่มา หนังสือ ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การใช้ปุ๋ยในพืชผักตระกูลกะหล่ำ คะน้า ผักกาดขาว

การใส่ปุ๋ยในพืชผักตระกูลกะหล่ำ คะน้า ผักกาดขาว

ปุ๋ยเคมีสูตรที่แนะนำและอัตราการใช้

ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เหมาะสำหรับดินเหนียว ใช้ในอัตรา 40 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 20-10-10 เหมาะสำหรับ ดินร่วน ใช้ในอัตรา 50 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 15-10-10 เหมาะสำหรับ ดินทราย ใช้ในอัตรา 80 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ใช้ในอัตรา 10-25 กก./ไร่

วิธีการใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

1.ในการปลูกแบบย้ายกล้ามีการใส่ปุ๋ยสองครั้งโดยแบ่งปุ๋ยที่จะใส่เป็นสองส่วน
ครั้งที่หนึ่ง ใส่หลังย้ายกล้าปลูกแล้ว 7 วัน
ครั้งที่สอง ใส่เมื่อพืชมีอายุประมาณ 25-30 วันหลังย้ายปลูก โดยวิธีการใส่เป็นแถวทั้งสองข้างและพรวนดินกลบ หรือในการใส่ปุ๋ยครั้งที่สองนี้ อาจใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 10-25 กก./ไร่

2.ในการปลูกแบบหว่านเมล็ดในแปลง มีการใส่ปุ๋ยครั้งเดียวหลังการถอนแยก หรือเมื่อพืชมีใบจริง 2-3 ใบ โดยการหว่านให้ทั่วแปลงและรดน้ำให้ชุ่ม ควรระวังมิให้เม็ดปุ๋ยค้างบนใบพืช

3.ในระยะที่ผักมีราคาสูง สามารถเร่งการผลิตโดยการใช้ปุ๋ย 46-0-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่ หรือ ใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตรา 40 กก./ไร่ หรือฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 1-2 ช้อน/น้ำ 20 ลิตร

ที่มา: หนังสือปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ของอาจารย์มุกดา สุขสวัสดิ์

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคไหม้(rice blast) ในข้าว




โรคไหม้

มีเชื้อสาเหตุคือ เชื้อรา Pyricularia oryzae Cavara
อาการ: เกิดกับต้นข้าวได้หลายส่วน เช่น ใบ ข้อ คอรวง รวง และเมล็ด พบว่ามีการระบาดเกือบทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายนนึงเดือนธันวาคม

การป้องกันกำจัด: วิธีควรปฏิบัติได้แก่
1. ปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคนี้ เช่น กข 6 กข 7 กข 13 และ หอมอุบล 80
2. ทำแปลงกล้าให้แคบประมาณ 50 เซนติเมตร และปล่อยน้ำท่วม
3. ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน
4. ใช้สารป้องกันจำกัด เช่น คาซูมิน 0.2% เบ็นเลท 50% อัตรา 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดสัปดาห์ละครั้ง

เพิ่มเติม
หอมอุบล 80 ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ต้านทานโรคไหม้ เป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้มีความต้านทานต่อสายพันธุ์เชื้อราสาเหตุของโรคไหม้ มีคุณภาพทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และคุณภาพข้าวสุก ของเมล็ด ใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และได้รับการยอมรับจากเกษตรกร

คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก

ที่มา:

หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พันธุ์ข้าว

พันธุ์ข้าว

ความตื่นตัวในเรื่องของข้าวพันธุ์ดี เริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ.2507 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (The International Rice Research Institute)ประเทสฟิลิปปินส์ ได้แนะนำข้าวพันธุ์ IR 8 ซึ่งมีทรงต้นเตี้ย แตกกอดี ใบตั้งตรง ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1,000 กิโลกรัม สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล นับว่าเป็นข้าวมหัศจรรย์พันธุ์แรกของโลกในยุคนั้น แต่เมื่อข้าวพันธุ์นี้เริ่มได้รับความนิยมปลูกกันแพร่หลายในทวีปเอเชีย กลับไม่ได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องคุณภาพการหุงต้มและทรงต้นซึ่งเตี้ยเกินไป อีกทั้งลำต้นก็แข็งเก็บเกี่ยวยาก นอกจากนี้ยังต้องใสปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูง ชาวนาไทยก็ไม่ยอมรับพันธุ์นี้ เนื่องจากการทำนาในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน จึงไม่อาจที่จะรักษาระดับน้ำในนาได้ตามที่ต้องการ ข้าวต้นเตี้ยจึงไม่เหมาะสำหรับนาหน้าฝน จากนั้นมาได้มีการผสมพันธุ์ข้าวจนได้พันธุ์ใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วยกันหลายพันธุ์ ดังนี้

1.พันธุ์ที่ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง ในเขตที่สามารถควบคุมน้ำได้ทุกภาค เช่น กข.7 กข 21 กข 23 คลองหลวง 1 และสุพรรณบุรี 1

2.พันธุ์ที่ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี สำหรับ
ภาคกลาง เช่น กข 27 เก้ารอง 86 ขาวตาแห้ง ขาวปากหม้อ ปทุมธานี 60 นางนวล เอส-4 และเหลืองประทิว 123
ภาคเหนือ เช่น d- ขาวดอกมะลิ 105 เหนีวสันป่าทอง และเหลืองใหญ่
ภาคตะวนออกเฉียงเหนือ เช่นเหนียวสันป่าตอง กข 6 ขาวดอกมะลิ 105 กข 15 และขาวตาแห้ง 17
และภาคใต้ เช่น พัทลุง 60 นางพญา 132 เผือกน้ำ ขาวดอกมะลิ 105 และพวงไร่ 2

3.พันธุ์ที่ปลูกในเขตน้ำลึก เช่น กข 17 กข 19 หันตรา 60 ตะเภาแก้ว 161 และนางฉลอง

4.พันธุ์ที่ปลูกในสภาพไร่ เช่น กู้เมืองหลวง เจ้าฮ่อ และซิวแม่จัน

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การทำนาหว่านน้ำตมหรือหว่านข้าวงอก

การทำนาหว่านน้ำตมหรือหว่านข้าวงอก

เป็นวิธีที่แพร่หลายที่สุดโดยเฉพาะพื้นที่มีระบบชลประทาน เนื่องจากสามารถระบายน้ำเข้าออกเพื่อควบคุมการงอกของเมล็ดข้าวและวัชพืชได้ นาหว่านน้ำตมทำได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง แต่ในฤดูนาปีอาจเข้สี่ยงต่อการมีฝนตกมากจนเมล็ดาวถูกฝนชะไหลไปรวมกันอยู่ขอบแปลง หรืออาจระบายน้ำออกไม่ทันทำให้ต้นอ่อนจมน้ำอยู่หลายวันและเน่าก่อนที่จะงอกยอดพ้นระดับน้ำ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการทำนาหว่านน้ำตมที่เรียกว่า การทำนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับวิธีเดิมแต่เน้นการปรับแปลงให้เรียบสม่ำเสมอ พร้อมทั้งทำร่องระบายน้ำเล็กๆ ภายในแปลงนาเพื่อระบายน้ำที่อาจขังอยู่ในจุดต่ำบางจุดออกก่อนที่จะหว่าน ทำให้เมล็ดข้าวงอกได้สม่ำเสมอ ไม่ถูกน้ำท่วมขังจนเมล็ดเน่าเสีย รายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ในการทำนาหว่านน้ำตมแผนใหม่มีดังข้างล่าง ขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น การปรับเปลี่ยนในรายละเอียดกระทำได้บนพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมให้อยู่ในกรอบของขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ผลผลิตของข้าวไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้

1.หว่านข้าวงอก นำเมล็ดข้าวพันธุ์ดีมีความงอกสูงอัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ มาแช่น้ำ 1 วัน จากนั้นนำขึ้นจากน้ำมาหุ้ม เพื่อควบคุมความชื้น 2 วัน จนเมล็ดข้าวงอก จึงนำไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้

2.ป้องกันแมลงครั้งที่ 1 ใช้เอส 85 (เซฟวิน)2 ช้อนแกงพูนผสมน้ำ 1 ปีบ คนให้ผสมกับน้ำฉีดในอัตรายา 8 ช้อนผสมน้ำ 4 ปีบต่อไร่ ควรฉีด 7 วันหลังหว่านข้าว

3.สุบน้ำเข้านาประมาณ 10 วันหลังหว่านข้าว เริ่มสูบน้ำเข้าแปลงนาจนเริ่มท่วมปลายใบ ตรวจดูแปลงนาอบ่าให้น้ำไหลซึมออกเพื่อรักษาระดับน้ำ

4.ควบคุมวัชพืชประมาณ 2 วันหลังสูบน้ำเข้านาจนรักษาระดับน้ำได้แล้ว ใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก

5. ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ประมาณ 3 วัน หลังใช้สารกำจัดวัชพืช ใช้ปุ๋ยผสมสูตร 16-20-0 จำนวน 35 กิโลกรัมผสมกับปุ๋ยยูเรีย 5 กิโลกรัม นำไปหว่านในเนื้อที่ 1 ไร่

6.สูบน้ำเข้านา ประมาณ 10 วันหลังหว่านปุ๋ย สูบน้ำเข้านาให้ได้ระดับหนึ่งฝ่ามือ(10 เวนติเมตร) ตรวจดูคันนาอย่าให้น้ำไหลซึมออกเพื่อรักษาระดับน้ำ

7.ป้องกันแมลงครั้งที่ 2 ประมาณ 10 วันหลังหว่านปุ๋ย ใช้อะโซดริน 8 ช้อนแกง(หรือ 80 ซีซี)ผสมน้ำ 4 ปีบ ฉีดในเนื้อที่ 1 ไร่ เมื่อมีการระบาดของแมลง

8.ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ประมาร 50 วันหลังหว่านข้าวงอก โดยใช้ยูเรีย 10 กิโลกรัมต่อไร่

ที่มา หนังสือพืชไร่เศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การควบคุมวัชพืชในนาข้าว

การควบคุมวัชพืชในนาข้าว

วัตถุประสงค์ในการควบคุมวัชพืช คือ การลดปริมาณวัชพืชใหอยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลเสียต่อผลผลผลิตข้าว ซึ่งทำได้หลายวิธีดังนี้

1.หลังจากไถและคราดแปลงนาแล้วเก็บเศษวัชพืชออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าแปลงนามีวัชพืชมากควรไถในขณะที่ดินค่อนข้างแห้ง แล้วตากไว้ 5-7 วัน ก่อนไขน้ำเข้าแปลง จากนั้นจึงคราดกลบหมักเศษวัชพืชลงใต้ดิน ทำให้มีโอกาสเจริญเป็นต้นอ่อนน้อยลง

2.เมื่อเตรียมแปลงนาดำเสร็จแล้ว ขังน้ำไว้ในแปลงตลอดเวลาไม่น้อยกว่า 3-5 เซนติเมตร เพื่ออกันการงอกของเมล็ดวัชพืช แต่ถ้าแปลงนามีวัชพืชมากควรปล่อยให้หน้าดินแห้ง 5-7 วัน จนวัชพืชเริ่มงอกแล้วจึงไขน้ำเข้าท่วม หลังจากนั้นคราดซ้ำอีกครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ส่วนการทำนาหว่านควรเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกดี และหว่านให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง ต้นข้าวจะขึ้นปกคลุมวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วัชพืชอ่อนแอลงจนไม่สามารถแข่งขันกับข้าวได้ การใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่มากเกินไปจะทำให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างต้นข้าวทางด้านความสูงทำให้ต้นข้าวอ่อนแอและหักล้ม ผลผลิตข้าวลดลง

3.การถอนด้วยมือ เป็นวิธีที่ชาวนาปฏิบัติประจำอยู่แล้ว เป็นการลดปริมาณวัชพืชลงไปได้ระดับหนึ่ง แต่การถอนในขณะที่ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโตนั้น อาจทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นถ้าเป็นนาดำควรทิ้งระยะไว้ 10-15 วัน หลังปักดำเพื่อให้ระบบรากข้าวพัฒนาได้ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกกระทบกระเทือนจากการเหยียบย่ำและการถอนวัชพืช และในระยะนี้ วัชพืชยังมีขนาดเล็กถอนง่ายและเบาแรง ส่วนในแปลงนาหว่านควรทำหลังหว่านข้าวแล้ว 35-40 วัน

4.การเว้นช่วงทำนา โดยปลูกพืชไร่สลับกับการทำนา เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำบางชนิด ซึ่งอาจระบาดมากเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อแปลงนาแปรสภาพเป็นแปลงปลูกพืชไร่ เช่น ถั่ว พริก หอม กระเทียม และข้าวโพด จะทำให้ปริมาณวัชพืชที่เคยปรากฎในบริเวณที่ยากจะควบคุมลดลงไปได้มากเมื่อกลับมาทำนาอีกครั้ง

5.การควบคุมโดยชีววิธี โดยอาศัยหลักการเจริญเติบโตของพืชที่แตกต่างกัน เช่นขยายพันธุ์แหนแดงคลุมแปลงนาที่มีสาหร่ายไฟระบาด จะทำให้สาหร่ายไฟเน่าตายเพราะขาดแสง การปล่อยปลาบางชนิด เช่น ปลานิล ปลาใน หรือปลาตะเพียน ก็จะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้เช่นกัน

6.การใช้สารกำจัดวัชพืช วิธีนี้ควรเป็นวิธีสุดท้ายในการควบคุมวัชพืช เพราะการใช้สารเคมีเป็นเวลานานย่อมมีผลต่อดินและการเจริญเติบโตของข้าว นอกจากนั้นถ้าใช้ไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ด้วย เพราะสารกำจัดวัชพืชบางชนิดเป็นฮอร์โมน บางชนิดมีพิษร้ายแรงต่อผู้ใช้ อย่างไรก็ตามชาวนาควรรู้สภาพทางนิเวศวิทยา (ecological habitat)ของวัชพืช เพื่อที่จะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับเวลาที่สามารถกำจัดวัชพืชได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ที่มา: หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง


การใช้ปุ๋ยสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ พันธุ์ข้าวที่ต้องปลูกเก็บเกี่ยวได้เฉพาะในฤดูนาปีเท่านั้น มีการใช้ปุ๋ยดังนี้
1. การใช้ปุ๋ยดินนาที่เป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต) 4-12 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0 (แอมโมเนียมคลอไรด์) 4-10 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) 2-6 กก./ไร่

2. ในดินนาที่เป็นดินทราย ดินร่วนทราย ดินทรายร่วน มีการใส่ปุ๋ยดังนี้
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ในอัตรา 4 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 25 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต) 4-12 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0 (แอมโมเนียมคลอไรด์) 4-10 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) 2-6 กก./ไร่

ที่มา: หนังสือปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวแสง


การใส่ปุ๋ยสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวแสง เช่น พันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และเก็บเกี่ยวตามอายุการเจริญเติบโต ที่ปลูกในดินชนิดต่างๆ ดังนี้
1.ในดินนาที่เป็นดินเหนียว ดินร่วนปนทราย มีการใส่ปุ๋ยดังนี้
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0(แอมโมเนียมซัลเฟต) 12-22 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0(แอมโมเนียมคลอไรด์) 10-13 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0(ยูเรีย) 6-10 กก./ไร่

2. ในดินนาที่เป็นดินทราย ดินร่วนทราย ดินทรายร่วน มีการใส่ปุ๋ยดังนี้
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์(0-0-60) ในอัตรา 40 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 25 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0(แอมโมเนียมซัลเฟต) 12-22 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0(แอมโมเนียมคลอไรด์) 10-18 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0(ยูเรีย) 6-10 กก./ไร่

ที่มา: หนังสือปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การทำนาดำ



การทำนาดำ เป็นการนำต้นกล้าที่มีอายุ 20-30 วัน ซึ่งมีความสูง 25-30 เซนติเมตรไปปักในแปลงที่ไถดะ ไถแปร และคราดดินจนเป็นเทือกดีแล้ว และขังน้ำไว้สูง 5-10 เซนติเมตร วิธีนี้ลดความเสี่ยงในการที่ข้าวจะถูกน้ำขังในช่วงแรก และลดปริมาณวัชพืชในแปลงนาได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาหว่านน้ำตม เพราะเมื่อระดับน้ำขณะที่ปักดำสูงวัชพืชก็ไม่สามารถงอกได้ วิธีนี้ใช้แรงงานคนมากทั้งในการถอนต้นกล้าและปักดำ แต่จะลดค่าใช้จ่ายในการควบคุมวัชพืช การทำนาดำมีขั้นตอนดังนี้
1.การเตรียมแปลงตกกล้า แปลงตกล้าควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และสามารถทดน้ำเข้าและระบายน้ำออกได้สะดวก
2.การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดข้าวที่มีความงอกไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
3.การตกกล้า แช่เมล็ดพันธุ์ในภาชนะเติมเกลือลงไปจนเมื่อนำไข่ไก่สดใส่ลงไปแล้วมีส่วนลอยพ้นผิวน้ำประมาณ 2 มิลลิเมตร แช่แล้วคน 1-2 นาที ช้อนเมล็ดที่ลอยไม่สมบูรณ์ทิ้ง นำเมล็ดที่สมบูรณ์ใส่กระสอบ นำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาวางเรียงนำกระสอบเปียกน้ำมาปิด รดน้ำตอนเช้าให้ชุ่มจนครบ 36 ชั่วโมง ถ้ารากยาว 3-5 มิลลิเมตรก็นำไปหว่านได้
4.การดูแลแปลงตกกล้า หลังจากหว่านเมล็ด 1-2 วัน ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ระดับเดียวกับเมล็ดข้าว หลังจากนั้นให้อยู่ในระดับ 2-3 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้าอายุได้ 15 วันระบายน้ำออก อีก 2 วันจึงไขน้ำเข้า 3-5 เซนติเมตร จนต้นกล้าอายุ 25 วัน ปล่อยให้แปลงตกกล้าขาดน้ำอีก 2-3 วัน เมื่อต้นกล้าอายุได้ 28 วันจึงนำน้ำเข้าแปลงอีกครั้ง จนต้นกล้าอายุ 30 วันจึงถอนไปปักดำ
5.การถอนกล้า ถอนกล้า อายุ 25-30 วัน
6.การปักดำ ควรระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวให้พอเหมาะ ทั้งนี้ขึ้นกับการแตกกอ ลักษณะของลำต้นและใบของแต่ละพันธุ์
7.การใส่ปุ๋ยแปลงปักดำ ก่อนปักดำ 1 วันใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่แล้วคราดกลบ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยหมักควรใส่ก่อน 5-7 วันอัตรา 500-1000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วจึงใส่ปุ๋ยเคมี 25 กิโลกรัมต่อไร่ก่อนปักดำ 1 วัน ดินนาที่เป็นดินทรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อข้าวเริ่มสร้างรวงถึงระยะตั้งท้องคือ 45-50 วันหลังปักดำและควรใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10-15 กิโลกรัมต่อไร่เพราะระยะนี้ข้าวต้องการปุ๋ยมาก
8.การป้องกันศัตรูข้าว 10-20 วันหลังปักดำ ถ้าพบการระบาดของหนอนกอ เพลี้ยจักจั่นและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใช้ฟูราดาน 3% G หว่านอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่
9.การระบายน้ำเก็บเกี่ยว หลังจากข้าวออกดอกได้ 15-20 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงให้หมด เก็บเกี่ยวเมื่อข้าวอายุได้ประมาณ 120 วัน

ที่มา:หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

คันแท คันนา




คันแท เป็นภาษาอีสานค่ะ ก็คือคันนานั่นเอง แต่อาจมีใครหลายๆคนไม่รู้จักคันนา


ยกตัวอย่าง ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าเรียนคณะเกษตรใหม่ๆ


การรับน้องของคณะเกษตร เป็นที่น่าประหลาดใจสำหรับข้าพเจ้ามาก


ไม่คิดว่า สิ่งที่เราทำมาตั้งแต่เด็ก เขาจะนำมาใช้เป็นวิธีการรับน้อง


ช่างตลกดีเสียจริง


พี่ๆบอกว่าวันนี้จะพาน้องๆไปดำนา


แล้วรุ่นพี่ก็พาเดินไปตามคันนา


แน่นอนข้าพเจ้าคุ้นเคยกับคันนาเป็นอย่างดี


จะแต่งต่างก็ตรงที่ แถวบ้านของข้าพเจ้า เรียกมันว่า คันแท


และก็น่าแปลกใจอีกอย่างก็คือ มีเพื่อนบางคนไม่รู้จักคำว่า คันนา


จนรุ่นพี่ต้องอธิบาย


ข้าพเจ้าก็ได้แต่นึกขำอยู่ในใจ ว่ามาเรียนเกษตรได้อย่างไร


แต่ก็มานึกได้ว่า มันคงไม่แปลก เพราะถ้าที่บ้านไม่ได้ประกอบอาชีพทำนา เขาจะเคยเห็นคันนาได้ยังไง


รุ่นพี่อธิบายว่า


คันนา คือส่วนที่ทำไว้เพื่อกักน้ำเอาไว้ให้ต้นข้าว


แต่ข้าพเจ้าเคยสงสัยว่า ทำไมนาภาคกลางถึงได้ทำคันนาน้อยกว่าทางภาคอีสาน


จะสังเกตได้จาก ผืนนาภาคกลางจะกว้างมาก สามารถนำรถเกี่ยวข้าววิ่งวนได้หลายๆรอบ


ซึ่งแตกต่างกับนาที่ภาคอีสาน จะมีคันนากันเยอะมาก กั้นเป็นผืนเล็กผืนน้อย


ข้าพเจ้าจึงได้ถามแม่ว่า เป็นเพราะสาเหตุใด


แม่ตอบว่า ก็ผืนนาของเราไม่สม่ำเสมอ มีสูงมีต่ำ สลับกันไป


จึงต้องทำคันนาไว้กักน้ำ ไม่งั้นน้ำก็กระจายไม่ทั่วถึง


ข้าพเจ้าเพิ่งถึงบางอ้อ ก็ตอนนี้เอง


สรุปก็คือ ประโยชน์ของคันแทหรือคันนา ก็คือ มีไว้กักน้ำให้กับต้นข้าว


และประโยชน์อีกอย่างก็คือ มีไว้เดินนั่นเอง

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฝนตกแล้ว ไปตึกสะดุ้งกันค่ะ

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ พรำ
กบมันก็ร้อง งึมงำ....อิ อิ แต่เราจะไม่ไปหากบดอกเด้อ
ตามยายไปตึกสะดุ้งกันดีกว่า
คำว่า ตึกสะดุ้ง เป็นภาษาอีสานค่ะ ก็คือ การจับปลาโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า สะดุ้ง นั่นเอง
สะดุ้ง ไม่รู้จริงๆว่าภาษากลาง เรียกว่าอะไร
แต่มันเป็นอุปกรณ์จับปลาของคนอีสาน ภาคกลางคงไม่มีชื่อเรียกกระมัง อันนี้เดา
เสิช google แล้ว ก็หายังไม่เจอ เหอๆ
ลักษณะของสะดุ้ง ก็จะเป็นอย่างในภาพค่ะ
มีส่วนยาวๆ ทำจากไม้ไผ่ เอาไว้จับ ไม่แน่ใจว่าทำจากไม้ชนิดอื่นได้รึป่าว
ส่วนที่เป็นกากบาททำจากไม้ไผ่สองอัน มาผูกติดกันเป็นกากบาท ต้องมีรูด้วยนะ เพราะว่าต้องเอาไม้อีกสองอันมาเสียบตรงรู
เอ...ชักสงสัย กากบาท กับเครื่องหมายบวก อันเดียวกันป่าวหว่า
และก็จะมี ไม้ยาวๆ เรียวๆอยากที่บอกไปเมื่อสักครู่ อีก 2 อัน ต้องมีลักษณะโค้งงอได้ ไม่หักง่าย
อธิบายไม่ถูกค่ะ ดูรูปเลยละกัน
ประกอบกันเสร็จ จะได้ออกมาหน้าตาแบบนี้ค่ะ เรียกว่า สะดุ้ง

การประกอบก็ใช่ว่าจะง่ายนะคะ ต้องใช้ความชำนาญนิดนึง
ข้าพเจ้า พยายามแล้ว กว่าจะทำได้ก็ค่อนข้างทุลักทุเล

วิธีการจับปลา ก็เอาลงไปในน้ำแบบนี้ค่ะ
สักพักก็ยกขึ้นมาดู ว่ามีปลาติดอยู่รึป่าว
อธิบายไม่เก่ง แถมถ่ายรูปไม่ได้เรื่อง ต้องขออภัย
ไว้คราวหน้าแก้ตัวใหม่นะคะ


ปลาไม่ค่อยมีอะ กลับบ้านดีกว่า ฮ่าๆๆๆๆ