วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวแสง


การใส่ปุ๋ยสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวแสง เช่น พันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และเก็บเกี่ยวตามอายุการเจริญเติบโต ที่ปลูกในดินชนิดต่างๆ ดังนี้
1.ในดินนาที่เป็นดินเหนียว ดินร่วนปนทราย มีการใส่ปุ๋ยดังนี้
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0(แอมโมเนียมซัลเฟต) 12-22 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0(แอมโมเนียมคลอไรด์) 10-13 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0(ยูเรีย) 6-10 กก./ไร่

2. ในดินนาที่เป็นดินทราย ดินร่วนทราย ดินทรายร่วน มีการใส่ปุ๋ยดังนี้
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์(0-0-60) ในอัตรา 40 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 25 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0(แอมโมเนียมซัลเฟต) 12-22 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0(แอมโมเนียมคลอไรด์) 10-18 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0(ยูเรีย) 6-10 กก./ไร่

ที่มา: หนังสือปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การทำนาดำ



การทำนาดำ เป็นการนำต้นกล้าที่มีอายุ 20-30 วัน ซึ่งมีความสูง 25-30 เซนติเมตรไปปักในแปลงที่ไถดะ ไถแปร และคราดดินจนเป็นเทือกดีแล้ว และขังน้ำไว้สูง 5-10 เซนติเมตร วิธีนี้ลดความเสี่ยงในการที่ข้าวจะถูกน้ำขังในช่วงแรก และลดปริมาณวัชพืชในแปลงนาได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาหว่านน้ำตม เพราะเมื่อระดับน้ำขณะที่ปักดำสูงวัชพืชก็ไม่สามารถงอกได้ วิธีนี้ใช้แรงงานคนมากทั้งในการถอนต้นกล้าและปักดำ แต่จะลดค่าใช้จ่ายในการควบคุมวัชพืช การทำนาดำมีขั้นตอนดังนี้
1.การเตรียมแปลงตกกล้า แปลงตกล้าควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และสามารถทดน้ำเข้าและระบายน้ำออกได้สะดวก
2.การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดข้าวที่มีความงอกไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
3.การตกกล้า แช่เมล็ดพันธุ์ในภาชนะเติมเกลือลงไปจนเมื่อนำไข่ไก่สดใส่ลงไปแล้วมีส่วนลอยพ้นผิวน้ำประมาณ 2 มิลลิเมตร แช่แล้วคน 1-2 นาที ช้อนเมล็ดที่ลอยไม่สมบูรณ์ทิ้ง นำเมล็ดที่สมบูรณ์ใส่กระสอบ นำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาวางเรียงนำกระสอบเปียกน้ำมาปิด รดน้ำตอนเช้าให้ชุ่มจนครบ 36 ชั่วโมง ถ้ารากยาว 3-5 มิลลิเมตรก็นำไปหว่านได้
4.การดูแลแปลงตกกล้า หลังจากหว่านเมล็ด 1-2 วัน ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ระดับเดียวกับเมล็ดข้าว หลังจากนั้นให้อยู่ในระดับ 2-3 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้าอายุได้ 15 วันระบายน้ำออก อีก 2 วันจึงไขน้ำเข้า 3-5 เซนติเมตร จนต้นกล้าอายุ 25 วัน ปล่อยให้แปลงตกกล้าขาดน้ำอีก 2-3 วัน เมื่อต้นกล้าอายุได้ 28 วันจึงนำน้ำเข้าแปลงอีกครั้ง จนต้นกล้าอายุ 30 วันจึงถอนไปปักดำ
5.การถอนกล้า ถอนกล้า อายุ 25-30 วัน
6.การปักดำ ควรระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวให้พอเหมาะ ทั้งนี้ขึ้นกับการแตกกอ ลักษณะของลำต้นและใบของแต่ละพันธุ์
7.การใส่ปุ๋ยแปลงปักดำ ก่อนปักดำ 1 วันใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่แล้วคราดกลบ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยหมักควรใส่ก่อน 5-7 วันอัตรา 500-1000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วจึงใส่ปุ๋ยเคมี 25 กิโลกรัมต่อไร่ก่อนปักดำ 1 วัน ดินนาที่เป็นดินทรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อข้าวเริ่มสร้างรวงถึงระยะตั้งท้องคือ 45-50 วันหลังปักดำและควรใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10-15 กิโลกรัมต่อไร่เพราะระยะนี้ข้าวต้องการปุ๋ยมาก
8.การป้องกันศัตรูข้าว 10-20 วันหลังปักดำ ถ้าพบการระบาดของหนอนกอ เพลี้ยจักจั่นและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใช้ฟูราดาน 3% G หว่านอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่
9.การระบายน้ำเก็บเกี่ยว หลังจากข้าวออกดอกได้ 15-20 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงให้หมด เก็บเกี่ยวเมื่อข้าวอายุได้ประมาณ 120 วัน

ที่มา:หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

คันแท คันนา




คันแท เป็นภาษาอีสานค่ะ ก็คือคันนานั่นเอง แต่อาจมีใครหลายๆคนไม่รู้จักคันนา


ยกตัวอย่าง ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าเรียนคณะเกษตรใหม่ๆ


การรับน้องของคณะเกษตร เป็นที่น่าประหลาดใจสำหรับข้าพเจ้ามาก


ไม่คิดว่า สิ่งที่เราทำมาตั้งแต่เด็ก เขาจะนำมาใช้เป็นวิธีการรับน้อง


ช่างตลกดีเสียจริง


พี่ๆบอกว่าวันนี้จะพาน้องๆไปดำนา


แล้วรุ่นพี่ก็พาเดินไปตามคันนา


แน่นอนข้าพเจ้าคุ้นเคยกับคันนาเป็นอย่างดี


จะแต่งต่างก็ตรงที่ แถวบ้านของข้าพเจ้า เรียกมันว่า คันแท


และก็น่าแปลกใจอีกอย่างก็คือ มีเพื่อนบางคนไม่รู้จักคำว่า คันนา


จนรุ่นพี่ต้องอธิบาย


ข้าพเจ้าก็ได้แต่นึกขำอยู่ในใจ ว่ามาเรียนเกษตรได้อย่างไร


แต่ก็มานึกได้ว่า มันคงไม่แปลก เพราะถ้าที่บ้านไม่ได้ประกอบอาชีพทำนา เขาจะเคยเห็นคันนาได้ยังไง


รุ่นพี่อธิบายว่า


คันนา คือส่วนที่ทำไว้เพื่อกักน้ำเอาไว้ให้ต้นข้าว


แต่ข้าพเจ้าเคยสงสัยว่า ทำไมนาภาคกลางถึงได้ทำคันนาน้อยกว่าทางภาคอีสาน


จะสังเกตได้จาก ผืนนาภาคกลางจะกว้างมาก สามารถนำรถเกี่ยวข้าววิ่งวนได้หลายๆรอบ


ซึ่งแตกต่างกับนาที่ภาคอีสาน จะมีคันนากันเยอะมาก กั้นเป็นผืนเล็กผืนน้อย


ข้าพเจ้าจึงได้ถามแม่ว่า เป็นเพราะสาเหตุใด


แม่ตอบว่า ก็ผืนนาของเราไม่สม่ำเสมอ มีสูงมีต่ำ สลับกันไป


จึงต้องทำคันนาไว้กักน้ำ ไม่งั้นน้ำก็กระจายไม่ทั่วถึง


ข้าพเจ้าเพิ่งถึงบางอ้อ ก็ตอนนี้เอง


สรุปก็คือ ประโยชน์ของคันแทหรือคันนา ก็คือ มีไว้กักน้ำให้กับต้นข้าว


และประโยชน์อีกอย่างก็คือ มีไว้เดินนั่นเอง

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฝนตกแล้ว ไปตึกสะดุ้งกันค่ะ

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ พรำ
กบมันก็ร้อง งึมงำ....อิ อิ แต่เราจะไม่ไปหากบดอกเด้อ
ตามยายไปตึกสะดุ้งกันดีกว่า
คำว่า ตึกสะดุ้ง เป็นภาษาอีสานค่ะ ก็คือ การจับปลาโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า สะดุ้ง นั่นเอง
สะดุ้ง ไม่รู้จริงๆว่าภาษากลาง เรียกว่าอะไร
แต่มันเป็นอุปกรณ์จับปลาของคนอีสาน ภาคกลางคงไม่มีชื่อเรียกกระมัง อันนี้เดา
เสิช google แล้ว ก็หายังไม่เจอ เหอๆ
ลักษณะของสะดุ้ง ก็จะเป็นอย่างในภาพค่ะ
มีส่วนยาวๆ ทำจากไม้ไผ่ เอาไว้จับ ไม่แน่ใจว่าทำจากไม้ชนิดอื่นได้รึป่าว
ส่วนที่เป็นกากบาททำจากไม้ไผ่สองอัน มาผูกติดกันเป็นกากบาท ต้องมีรูด้วยนะ เพราะว่าต้องเอาไม้อีกสองอันมาเสียบตรงรู
เอ...ชักสงสัย กากบาท กับเครื่องหมายบวก อันเดียวกันป่าวหว่า
และก็จะมี ไม้ยาวๆ เรียวๆอยากที่บอกไปเมื่อสักครู่ อีก 2 อัน ต้องมีลักษณะโค้งงอได้ ไม่หักง่าย
อธิบายไม่ถูกค่ะ ดูรูปเลยละกัน
ประกอบกันเสร็จ จะได้ออกมาหน้าตาแบบนี้ค่ะ เรียกว่า สะดุ้ง

การประกอบก็ใช่ว่าจะง่ายนะคะ ต้องใช้ความชำนาญนิดนึง
ข้าพเจ้า พยายามแล้ว กว่าจะทำได้ก็ค่อนข้างทุลักทุเล

วิธีการจับปลา ก็เอาลงไปในน้ำแบบนี้ค่ะ
สักพักก็ยกขึ้นมาดู ว่ามีปลาติดอยู่รึป่าว
อธิบายไม่เก่ง แถมถ่ายรูปไม่ได้เรื่อง ต้องขออภัย
ไว้คราวหน้าแก้ตัวใหม่นะคะ


ปลาไม่ค่อยมีอะ กลับบ้านดีกว่า ฮ่าๆๆๆๆ