วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พันธุ์ข้าวโพด

ข้าวโพดพันธุ์ดีควรมีลักษณะดังนี้

1. .ให้ผลผลิตสูง  อาจจำเพาะสภาพพื้นที่ปลูก (specific location)หรืออาจมีเสถียรภาพสำหรับทุกพื้นที่ปลูก(stabilized location)
2. มีลักษณะทางสัณฐาน(morphology) ที่ดี เช่น ทรงต้นเตี้ย ตำแหน่งฝักต่ำ หักล้มน้อย ใบตั้งรับแสง ระบบรากแข็งแรง และขนาดช่อดอกตัวผู้เล็ก
3. มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ฝักใหญ่ ซังเล็ก น้ำหนักเมล็ดมาก กาบหุ้มปลายฝักมิด และลำต้นยังคงความสด(stay green) ในระยะแก่
4. ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง  ระยะออกไหมและดอกตัวผู้บานใกล้เคียงกัน และมีการฟื้นตัวได้เร็วเมื่อได้รับน้ำเพิ่มขึ้นหลังจากสภาพความแห้งแล้ง
5. ทนต่อการใช้อัตราปลูกสูง ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ย และทนต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
6. ต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูสำคัญ
7. มีอายุการเก็บเกี่ยวเหมาะสมต่อระบบการปลูกพืช

พันธุ์ข้าวโพดที่มีการปลูกหรือผลิตได้ในแหล่งปลูกข้าวโพดของไทย ได้แก่

พันธุ์ผสมเปิด (open-pollinated variety) มีหลายพันธุ์ เช่น

สุวรรณ 1 เป็นพันธุ์ผสมเปิด ได้จาการผสมรวมของพันธุ์ดีเด่น 36 พันธุ์ เป็นพันธุ์จากหมู่เกาะแคริบเบียน 16 พันธุ์ ประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง 6 พันธุ์ อเมริกาใต้  5 พันธุ์ อินเดีย  5 พันธุ์ และจากแหล่งอื่นๆ 4 พันธุ  โดยนำมาปลูกและปล่อยให้ผสมกันเอง  4 ชั่ว เพื่อให้เชื้อพันธุ์คลุกเคล้ากันดี  แล้วเรียกพันธุ์นี้ว่า ไทยคอมโพสิต เบอร์ 1 (Thai Composite #1) หลังจากนั้นคัดเลือกแบบวงจรเอส 1 (S1 recurrent selection) 3 ชั่ว เพื่อปรับปรุงลักษณะต่างๆ เข่น  ผลผลิต ความสูง อายุการเก็บเกี่ยว และการหักล้ม จนได้พันธุ์คอมโพสิตเบอร์ 1 (S) C3 พันธุนี้ไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง จึงนำพันธุ์ฟิลิปปินส์ ดีเอ็มอาร์ 1 และ 5 (Philippines DMR 1 และ dMR 5) ซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง มาผสมกับพันธุ์ไทยคอมโพสิตเบอร์ 1 (S) C1 เพื่อเป็นแหล่งของความต้านทาน เลือกจนได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูงต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ทางราชการประกาศเป็นพันธุ์ส่งเสริม ใน พ.ศ. 2518 มีชื่อว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 719-1040 กิโลกรัมต่อไร่ ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมกว้าง มีความสูงต้นเฉลี่ย 1.90 เมตร ความสูงฝักเฉลี่ย 1.04 เมตร ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างและโรคที่ทำลายใบอื่นๆ มีอายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน และเมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง

สุวรรณ 2 เป็นพันธุ์ผสมเปิดที่มีบรรพบุรุษเหมือพันธุ์สุวรรณ 1 ลักษณะเด่นคือเป็นพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น (90-100 วัน) ให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 1  ร้อยละ 20-30 มีความสูงต้นและความสูงฝักต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 สามารถปลูกจำนวนต้นต่อพื้นที่ได้มากกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 โดยมีการหักล้มของต้นน้อย ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดี และเมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง ปัจจุบันแนะนำให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้าวโพด (Corn) Zea mays L.



ข้าวโพด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zea mays L.

การจำแนกชนิดข้าวโพด
จำแนกตามคุณสมบัติของแป้งในเมล็ด  ภายในเมล็ดข้าวโพดประกอบด้วยแป้ง 2 ชนิด คือ แป้งแข็ง(hard starch) และแป้งอ่อน (soft starch) จึงสามารถจำแนกโดยอาศัยตำแหน่งขแงแป้งแต่ละชนิดและลักษณะของเปลือกหุ้มเมล็ดได้เป็น 7 ชนิด คือ

1. ข้าวโพดป่า (pod corn) เป็นข้าวโพดเก่าที่ปลูก ในบริเวณถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางและใต้  เมล็ดข้าวโพดป่าทุกเมล็ดจะเปลือกหุ้มเมล็ดอย่างมิดชิดเหมือนกับเมล็ดหญ้า และยังมีเปลือกหุ้มฝักอีกชั้นหนึ่ง  เมล็ดมีสีต่างๆหรือเป็นลาย ลักษณะที่กล่าวมานี้ถูกควบคุมด้วยยีน TU ที่อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 4

2. ข้าวโพดคั่ว(pop corn) เป็นข้าวโพดที่เมล็ดมีแป้งแข็งที่อัดกันอย่างแน่นมาก  มีแป้งอ่อนเป็นองค์ประกอบเล็กน้อย ลักษณะรูปร่างของเมล็ดแบ่งเป็น 2 พวก คือพวกที่มีรูปร่างเรียวแหลมคล้ายเมล็ดข้าวเรียกว่า rice pop corn และพวกที่มีลักษณะเมล็ดกลมเรียกว่า pearl pop corn เมื่อเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้ได้รับความร้อนระดับหนึ่งแป้งจะขยายตัวสร้างความดันขึ้นมาภายในจนกระทั่งเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาแตกออก  ปริมาตรของแป้งจะเพิ่มขึ้น 20-30 เท่า ข้าวโพดคั่วจัดอยู่ใน subspecies everta

3. ข้าวโพดหัวแข็ง(flint corn ) เป้นข้าวโพดที่ด้านบนของเมล็ดมีแป้งแข็งเป็นองค์ประกอบ  ส่วนแป้งอ่อนจะอยู่ภายในตรงกลางเมล็ดหรืออาจไม่มีเลย เมื่อเมล็ดแห้งจะไม่มีรอยบุบด้านบน  ลักษณะดังกล่าวนี้ถูกควบคุมด้วยยีนเด่น Fl บนโครโมโซมคู่ที่ 2 ข้าวโพดหัวแข็งจัดอยู่ใน subspecies indurata
เมล็ดมีสีต่างๆ เช่น เหลือง เหลืองส้ม ขาวและดำ

4. ข้าวโพดหัวบุบ(dent corn) เป้นข้าวโพดที่มีส่วนของแป้งอ่อนอยู่ด้นบนของเมล็ด  ส่วนแป้งแข็งจะอยู่ด้านล่างและด้านข้าง  เมื่อข้าวโพดแก่เมล็ดสูญเสียความชื้นทำให้แป้งอ่อนด้านบนหดตัวเมล็ดจึงเกิดรอยบุบ ข้าวโพดชนิดนี้จัดอยู่ใน subspecies indentata

5. ข้าวโพดแป้ง (flour corn) เป็นข้าวโพดที่มีองค์ประกอบเป็นแป้งอ่อนเกือบทั้งหมด  มีแป้งแข็งเป็นชั้นบางๆ อยู่ด้านในเมล็ด เมื่อข้าวโพดแก่การหดตัวของแป้งในเมล็ดจะเท่าๆกัน  ทำให้เมล็ดมีรูปร่างเหมือนข้าวโพดหัวแข็ง  แต่มีลักษณะทึบแสง (opaque) ลักษณะนี้ถูกควบคุมด้วยยีนด้อย fl ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 2 ข้าวโพดแป้งจัดอยู่ใน subspecies amylacea

6. ข้าวโพดหวาน (sweet corn) เป็นข้าวโพดที่น้ำตาลในเมล็ดเปลี่ยไปเป็นแป้งไม่สมบูรณ์ เมล็ดจึงมีความหวานมากกว่าข้าวโพดชนิดอื่นๆ เมล็ดเมื่อแก่จะเหี่ยวย่น ลักษณะของข้าวโพดหวานถูกควบคุมด้วยยีนด้อยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม sugary(su) อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 4 shrunken 2 (sh2) อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 3 และยีน brittle(bt) อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 5 ข้าวโพดหวานจัดอยู่ใน subspecies saccharata

7. ข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn) เมล็ดประกอบด้วยแป้งอ่อนที่มีความเหนียว เนื่องจากองค์ประกอบของแป้งส่วนใหญ่เป็นอะมิโลเปกติน (amylopectin) เมื่อเปรียบเทียยบสัดส่วนของอะมิโลเปกตินกับอะมิโลส(amylose) มีปริมาณร้อยละ 73:27 ลักษณะนี้ถูกควบคุมด้วยยีนด้อย wx บนโครโมโซมคู่ที่ 9 ข้าวโพดนี้จัดอยู่ใน subspecies ceratina

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปุ๋ยอินทรีย์(organic fertilizer)

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบและเป็นสารปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น มีแหล่งกำเนิดจากสารอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด เป็นต้น
ปุ๋ยคอก ได้แก่ มูลสัตวืต่างๆ ที่อยู่ในรูปของเหลวและของแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นมูลสัตว์เลี้ยง เช่น มูลวัว ไก่ เป็ด และสุกร เป็นต้น  มูลสัตว์เหล่านี้จะประกอบด้วยอุจจาระและปัสสาวะของสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนของซากพืชและสัตว์ที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายจากระบบย่อยของสัตว์  ปัสสาวะก้จะเป็นส่วนประกอบของเกลือและสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืช  ธาตุอาหารพืชจากปุ๋ยคอกจะมีปริมาณน้อย  และอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ

ปัจจัยที่ควบคุมความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชจากปุ๋ยคอก มีดังนี้ คือ

1. ชนิดของอาหารที่สัตว์บริโภค สัตว์ที่บริโภคสัตว์เป็นอาหาร เช่น แมลง ปลา และหอย  จะมีธาตุอาหารพืชในมูลที่ขับถ่ายออกมามากกว่ามูลสัตว์ที่บริโภคพืชเป็นอาหาร เช่น มูลนกและค้างคาว มูลสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์ปีก จะมีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบมากกว่ามูลจากสุกร วัว และช้าง เป็นต้น
2. สัดส่วน คาร์บอน/ไนโตรเจน ของปุ๋ยคอก จะเป็นคุณสมบัติของปุ๋ยคอกที่บอกถึงองค์ประกอบทางเคมี ปุ๋ยคอกที่มาจากสัตว์ที่บริโภคพืชเป้นอาหาร จะมี คาร์บอน/ไนโตรเจน สัดส่วนที่กว้าง แสดงว่ามีปริมาณธาตุไนโตรเจนน้อย  และเนื่องจากมีซากพืชในรูปของคาร์บอน (C) เป็นองค์ประกอบในมูลสัตว์เหล่านั้น แต่มูลค้างคาวและมูลนกมีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณที่สูง จึงพบว่ามีสัดส่วนคาร์บอน/ไนโตรเจนที่แคบกว่า
3. อายุสัตว์ สัตว์ที่มีอายุน้อยจะมีการย่อยสลายและการดูดซึมธาตุอาหารดี จึงทำให้มูลสัตว์มีธาตุอาหารน้อย แต่ในสัตว์อายุมาก การย่อยสลายและการดูดซึมธาตุอาหารจะมีน้อย จึงทำให้มูลสัตว์อายุมากมีธาตุอาหารติดมามาก
4. วัสดุรองพื้นคอก ควรเลือกใช้วัสดุที่มี คาร์บอน/ไนโตรเจนแคบหรือต่ำ เช่น หญ้าขน ผักตบชวา ปอเทือง เปลือกมันสำปะหลัง ต้นข้าวโพด เปลือกถั่วลิสง ฟางข้าวตามลำดับ โดยหญ้าขนจะมี C/N กว้างมาก ถ้าใช้ข้าวโพดอาจใช้ 1/4 ของปริมาณมูลสัตว์ทั้งหมดที่ถ่ายออกมา (ทั้งของเหลวและของแข็ง)วัสดุรองพื้นคอกต้องดูดซับธาตุอาหารที่อยู่ในของเหลวของสัตว์ได้ดี พวกธัญพืช ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ตอซังข้าว จะดูดซับน้ำได้ประมาณ 2-3 เท่าของน้ำหนักแห้ง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปุ๋ยชีวภาพ(Biofertilizer)

การใช้ปุ๋ยชีวภาพในประเทศไทย

ปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) หมายถึง วัสดุที่มีเชื้อจุลินทรีย์เป็นตัวอออกฤทธิ์ (Active ingreddient) ในการก่อให้เกิดปฏิกิริยา  เพื่อการทำให้พืชได้รับธาตุอาหารที่ต้องการ  เช่น เชื้อไรโซเบียมจะต้องมีแบคทีเรียในสกุลไรโซเบียมเป็นตัวการสำคัญ  ซึ่งเมื่อใส่ลงไปในดินพร้อมกับปลูกถั่วก็จะเข้าไปสร้างปมที่รากถั่ว  ช่วยให้ถั่วใช้ธาตุไนโตรเจนในอากาศเป็นปุ๋ยได้  หรือเชื้อราไมโคไรซ่า  จะเข้าสู่รากพืชและช่วยดูดซับธาตุอาหารในดิน  โดยเฉพาะฟอสฟอรัสให้พืชใช้ในการสร้างการเจริญเติบโตได้  จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นปุ๋ยชีวภาพ  จึงแบ่งได้  2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ  กลุ่มที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศ (Biological Nitrogen Fixation  หรือ  BNF)  และกลุ่มที่ช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารพืชได้รับธาตุอาหารอื่นๆที่นอกเหนือจากไนโตรเจนในอากาศ

การใช้ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว

ปุ๋ยชีวภาพเป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำเอาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชมาเพาะเลี้ยงจำนวนมากๆแล้วเติมลงในดินที่จะเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อให้จุลินทรีย์ที่ต้องการเหล่านี้เจริญเติบโตเพิ่มปริมาณและส้รางสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อดิน  ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์  จุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำปุ๋ยชีวภาพสำหรับนาข้าว คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน คือ พืชชั้นต่ำที่มีขนาดเล็กมาก  ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ด้วยกำลังขยาย 400 เท่า  จะเห็นลักษณะพิเศษของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว  เป็นลักษณะเส้นสาย  ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เล็กๆ  จำนวนมาก  เซลล์ส่วนใหญ่จะมีสีน้ำเงินแกมเขียว  เรียกว่าเซลล์พื้นฐานของสาหร่าย ทำหน้าที่หาแร่ธาตุอาหารพืชและสามารถปรุงอาหารได้เองโดยการสังเคราะห์แสง  และมีเซลล์พิเศษเรียกว่า  เฮเทอโรซีส (Heterocyste) นั้นแทรกอยู่ในระยะเซลล์นี้  มีลักษณะสีจางและมีผนังเซลล์หนาเห็นได้ชัด  เซลล์มีหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศจากรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นสารประกอบไนโตรเจน  โดยมีเอนไซม์ที่มีชื่อว่า  ไนโตรจีเนส  ทำหน้าที่นี้โดยอาศัยพลังงานแสงแดดร่วมในกระบวนการ  ส่วนเซลล์อีกพวกหนึ่ง คือ เซลล์ที่เรียกว่า อะคีเนต (Akinate)  หรือสปอร์  ทำหน้าที่สืบพันธุ์  มีความสามารถพิเศษในการทนสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม  เช่น ทนความแห้งแล้ง  ทนแล้ง  และทนหนาวได้ที  เมื่อได้รับสภาพเหมาะสมก้จะออกเป็นสาหร่ายเส้นใหม่

ชนิดของสาหร่ายที่จะนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1. เจริญเติบโตได้รวดเร็วและสามารถเพาะเลี้ยงได้ในปริมาณมาก
2. สามารถตรึงไนโตรเจนและปลดปล่อยสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นข้าวได้ดี
3. ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี  ขึ้นได้ดีในนาทุกแห่ง
4. มีความคงทนต่อสารเคมีทางการเกษตร เช่น ยาปราบศัตรูพืช ยาปราบวัชพืช

ปุ๋ยชีวภาพโดยทั่วไปประกอบด้วยสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว 6 สายพันธุ์ ได้แก่  Anabena  sp., Calothrix  sp., Cylindrospermum  sp., Nostoc  sp., Scytonema  sp. และ Tolypothrix  sp.

ที่มา หนังสือ ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ