วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การควบคุมวัชพืชในนาข้าว

การควบคุมวัชพืชในนาข้าว

วัตถุประสงค์ในการควบคุมวัชพืช คือ การลดปริมาณวัชพืชใหอยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลเสียต่อผลผลผลิตข้าว ซึ่งทำได้หลายวิธีดังนี้

1.หลังจากไถและคราดแปลงนาแล้วเก็บเศษวัชพืชออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าแปลงนามีวัชพืชมากควรไถในขณะที่ดินค่อนข้างแห้ง แล้วตากไว้ 5-7 วัน ก่อนไขน้ำเข้าแปลง จากนั้นจึงคราดกลบหมักเศษวัชพืชลงใต้ดิน ทำให้มีโอกาสเจริญเป็นต้นอ่อนน้อยลง

2.เมื่อเตรียมแปลงนาดำเสร็จแล้ว ขังน้ำไว้ในแปลงตลอดเวลาไม่น้อยกว่า 3-5 เซนติเมตร เพื่ออกันการงอกของเมล็ดวัชพืช แต่ถ้าแปลงนามีวัชพืชมากควรปล่อยให้หน้าดินแห้ง 5-7 วัน จนวัชพืชเริ่มงอกแล้วจึงไขน้ำเข้าท่วม หลังจากนั้นคราดซ้ำอีกครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ส่วนการทำนาหว่านควรเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกดี และหว่านให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง ต้นข้าวจะขึ้นปกคลุมวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วัชพืชอ่อนแอลงจนไม่สามารถแข่งขันกับข้าวได้ การใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่มากเกินไปจะทำให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างต้นข้าวทางด้านความสูงทำให้ต้นข้าวอ่อนแอและหักล้ม ผลผลิตข้าวลดลง

3.การถอนด้วยมือ เป็นวิธีที่ชาวนาปฏิบัติประจำอยู่แล้ว เป็นการลดปริมาณวัชพืชลงไปได้ระดับหนึ่ง แต่การถอนในขณะที่ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโตนั้น อาจทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นถ้าเป็นนาดำควรทิ้งระยะไว้ 10-15 วัน หลังปักดำเพื่อให้ระบบรากข้าวพัฒนาได้ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกกระทบกระเทือนจากการเหยียบย่ำและการถอนวัชพืช และในระยะนี้ วัชพืชยังมีขนาดเล็กถอนง่ายและเบาแรง ส่วนในแปลงนาหว่านควรทำหลังหว่านข้าวแล้ว 35-40 วัน

4.การเว้นช่วงทำนา โดยปลูกพืชไร่สลับกับการทำนา เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำบางชนิด ซึ่งอาจระบาดมากเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อแปลงนาแปรสภาพเป็นแปลงปลูกพืชไร่ เช่น ถั่ว พริก หอม กระเทียม และข้าวโพด จะทำให้ปริมาณวัชพืชที่เคยปรากฎในบริเวณที่ยากจะควบคุมลดลงไปได้มากเมื่อกลับมาทำนาอีกครั้ง

5.การควบคุมโดยชีววิธี โดยอาศัยหลักการเจริญเติบโตของพืชที่แตกต่างกัน เช่นขยายพันธุ์แหนแดงคลุมแปลงนาที่มีสาหร่ายไฟระบาด จะทำให้สาหร่ายไฟเน่าตายเพราะขาดแสง การปล่อยปลาบางชนิด เช่น ปลานิล ปลาใน หรือปลาตะเพียน ก็จะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้เช่นกัน

6.การใช้สารกำจัดวัชพืช วิธีนี้ควรเป็นวิธีสุดท้ายในการควบคุมวัชพืช เพราะการใช้สารเคมีเป็นเวลานานย่อมมีผลต่อดินและการเจริญเติบโตของข้าว นอกจากนั้นถ้าใช้ไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ด้วย เพราะสารกำจัดวัชพืชบางชนิดเป็นฮอร์โมน บางชนิดมีพิษร้ายแรงต่อผู้ใช้ อย่างไรก็ตามชาวนาควรรู้สภาพทางนิเวศวิทยา (ecological habitat)ของวัชพืช เพื่อที่จะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับเวลาที่สามารถกำจัดวัชพืชได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ที่มา: หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น