วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การใช้ปุ๋ยในพืชผักตระกูลกะหล่ำ คะน้า ผักกาดขาว

การใส่ปุ๋ยในพืชผักตระกูลกะหล่ำ คะน้า ผักกาดขาว

ปุ๋ยเคมีสูตรที่แนะนำและอัตราการใช้

ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เหมาะสำหรับดินเหนียว ใช้ในอัตรา 40 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 20-10-10 เหมาะสำหรับ ดินร่วน ใช้ในอัตรา 50 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 15-10-10 เหมาะสำหรับ ดินทราย ใช้ในอัตรา 80 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ใช้ในอัตรา 10-25 กก./ไร่

วิธีการใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

1.ในการปลูกแบบย้ายกล้ามีการใส่ปุ๋ยสองครั้งโดยแบ่งปุ๋ยที่จะใส่เป็นสองส่วน
ครั้งที่หนึ่ง ใส่หลังย้ายกล้าปลูกแล้ว 7 วัน
ครั้งที่สอง ใส่เมื่อพืชมีอายุประมาณ 25-30 วันหลังย้ายปลูก โดยวิธีการใส่เป็นแถวทั้งสองข้างและพรวนดินกลบ หรือในการใส่ปุ๋ยครั้งที่สองนี้ อาจใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 10-25 กก./ไร่

2.ในการปลูกแบบหว่านเมล็ดในแปลง มีการใส่ปุ๋ยครั้งเดียวหลังการถอนแยก หรือเมื่อพืชมีใบจริง 2-3 ใบ โดยการหว่านให้ทั่วแปลงและรดน้ำให้ชุ่ม ควรระวังมิให้เม็ดปุ๋ยค้างบนใบพืช

3.ในระยะที่ผักมีราคาสูง สามารถเร่งการผลิตโดยการใช้ปุ๋ย 46-0-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่ หรือ ใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตรา 40 กก./ไร่ หรือฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 1-2 ช้อน/น้ำ 20 ลิตร

ที่มา: หนังสือปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ของอาจารย์มุกดา สุขสวัสดิ์

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคไหม้(rice blast) ในข้าว




โรคไหม้

มีเชื้อสาเหตุคือ เชื้อรา Pyricularia oryzae Cavara
อาการ: เกิดกับต้นข้าวได้หลายส่วน เช่น ใบ ข้อ คอรวง รวง และเมล็ด พบว่ามีการระบาดเกือบทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายนนึงเดือนธันวาคม

การป้องกันกำจัด: วิธีควรปฏิบัติได้แก่
1. ปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคนี้ เช่น กข 6 กข 7 กข 13 และ หอมอุบล 80
2. ทำแปลงกล้าให้แคบประมาณ 50 เซนติเมตร และปล่อยน้ำท่วม
3. ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน
4. ใช้สารป้องกันจำกัด เช่น คาซูมิน 0.2% เบ็นเลท 50% อัตรา 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดสัปดาห์ละครั้ง

เพิ่มเติม
หอมอุบล 80 ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ต้านทานโรคไหม้ เป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้มีความต้านทานต่อสายพันธุ์เชื้อราสาเหตุของโรคไหม้ มีคุณภาพทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และคุณภาพข้าวสุก ของเมล็ด ใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และได้รับการยอมรับจากเกษตรกร

คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก

ที่มา:

หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พันธุ์ข้าว

พันธุ์ข้าว

ความตื่นตัวในเรื่องของข้าวพันธุ์ดี เริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ.2507 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (The International Rice Research Institute)ประเทสฟิลิปปินส์ ได้แนะนำข้าวพันธุ์ IR 8 ซึ่งมีทรงต้นเตี้ย แตกกอดี ใบตั้งตรง ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1,000 กิโลกรัม สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล นับว่าเป็นข้าวมหัศจรรย์พันธุ์แรกของโลกในยุคนั้น แต่เมื่อข้าวพันธุ์นี้เริ่มได้รับความนิยมปลูกกันแพร่หลายในทวีปเอเชีย กลับไม่ได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องคุณภาพการหุงต้มและทรงต้นซึ่งเตี้ยเกินไป อีกทั้งลำต้นก็แข็งเก็บเกี่ยวยาก นอกจากนี้ยังต้องใสปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูง ชาวนาไทยก็ไม่ยอมรับพันธุ์นี้ เนื่องจากการทำนาในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน จึงไม่อาจที่จะรักษาระดับน้ำในนาได้ตามที่ต้องการ ข้าวต้นเตี้ยจึงไม่เหมาะสำหรับนาหน้าฝน จากนั้นมาได้มีการผสมพันธุ์ข้าวจนได้พันธุ์ใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วยกันหลายพันธุ์ ดังนี้

1.พันธุ์ที่ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง ในเขตที่สามารถควบคุมน้ำได้ทุกภาค เช่น กข.7 กข 21 กข 23 คลองหลวง 1 และสุพรรณบุรี 1

2.พันธุ์ที่ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี สำหรับ
ภาคกลาง เช่น กข 27 เก้ารอง 86 ขาวตาแห้ง ขาวปากหม้อ ปทุมธานี 60 นางนวล เอส-4 และเหลืองประทิว 123
ภาคเหนือ เช่น d- ขาวดอกมะลิ 105 เหนีวสันป่าทอง และเหลืองใหญ่
ภาคตะวนออกเฉียงเหนือ เช่นเหนียวสันป่าตอง กข 6 ขาวดอกมะลิ 105 กข 15 และขาวตาแห้ง 17
และภาคใต้ เช่น พัทลุง 60 นางพญา 132 เผือกน้ำ ขาวดอกมะลิ 105 และพวงไร่ 2

3.พันธุ์ที่ปลูกในเขตน้ำลึก เช่น กข 17 กข 19 หันตรา 60 ตะเภาแก้ว 161 และนางฉลอง

4.พันธุ์ที่ปลูกในสภาพไร่ เช่น กู้เมืองหลวง เจ้าฮ่อ และซิวแม่จัน

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การทำนาหว่านน้ำตมหรือหว่านข้าวงอก

การทำนาหว่านน้ำตมหรือหว่านข้าวงอก

เป็นวิธีที่แพร่หลายที่สุดโดยเฉพาะพื้นที่มีระบบชลประทาน เนื่องจากสามารถระบายน้ำเข้าออกเพื่อควบคุมการงอกของเมล็ดข้าวและวัชพืชได้ นาหว่านน้ำตมทำได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง แต่ในฤดูนาปีอาจเข้สี่ยงต่อการมีฝนตกมากจนเมล็ดาวถูกฝนชะไหลไปรวมกันอยู่ขอบแปลง หรืออาจระบายน้ำออกไม่ทันทำให้ต้นอ่อนจมน้ำอยู่หลายวันและเน่าก่อนที่จะงอกยอดพ้นระดับน้ำ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการทำนาหว่านน้ำตมที่เรียกว่า การทำนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับวิธีเดิมแต่เน้นการปรับแปลงให้เรียบสม่ำเสมอ พร้อมทั้งทำร่องระบายน้ำเล็กๆ ภายในแปลงนาเพื่อระบายน้ำที่อาจขังอยู่ในจุดต่ำบางจุดออกก่อนที่จะหว่าน ทำให้เมล็ดข้าวงอกได้สม่ำเสมอ ไม่ถูกน้ำท่วมขังจนเมล็ดเน่าเสีย รายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ในการทำนาหว่านน้ำตมแผนใหม่มีดังข้างล่าง ขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น การปรับเปลี่ยนในรายละเอียดกระทำได้บนพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมให้อยู่ในกรอบของขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ผลผลิตของข้าวไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้

1.หว่านข้าวงอก นำเมล็ดข้าวพันธุ์ดีมีความงอกสูงอัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ มาแช่น้ำ 1 วัน จากนั้นนำขึ้นจากน้ำมาหุ้ม เพื่อควบคุมความชื้น 2 วัน จนเมล็ดข้าวงอก จึงนำไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้

2.ป้องกันแมลงครั้งที่ 1 ใช้เอส 85 (เซฟวิน)2 ช้อนแกงพูนผสมน้ำ 1 ปีบ คนให้ผสมกับน้ำฉีดในอัตรายา 8 ช้อนผสมน้ำ 4 ปีบต่อไร่ ควรฉีด 7 วันหลังหว่านข้าว

3.สุบน้ำเข้านาประมาณ 10 วันหลังหว่านข้าว เริ่มสูบน้ำเข้าแปลงนาจนเริ่มท่วมปลายใบ ตรวจดูแปลงนาอบ่าให้น้ำไหลซึมออกเพื่อรักษาระดับน้ำ

4.ควบคุมวัชพืชประมาณ 2 วันหลังสูบน้ำเข้านาจนรักษาระดับน้ำได้แล้ว ใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก

5. ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ประมาณ 3 วัน หลังใช้สารกำจัดวัชพืช ใช้ปุ๋ยผสมสูตร 16-20-0 จำนวน 35 กิโลกรัมผสมกับปุ๋ยยูเรีย 5 กิโลกรัม นำไปหว่านในเนื้อที่ 1 ไร่

6.สูบน้ำเข้านา ประมาณ 10 วันหลังหว่านปุ๋ย สูบน้ำเข้านาให้ได้ระดับหนึ่งฝ่ามือ(10 เวนติเมตร) ตรวจดูคันนาอย่าให้น้ำไหลซึมออกเพื่อรักษาระดับน้ำ

7.ป้องกันแมลงครั้งที่ 2 ประมาณ 10 วันหลังหว่านปุ๋ย ใช้อะโซดริน 8 ช้อนแกง(หรือ 80 ซีซี)ผสมน้ำ 4 ปีบ ฉีดในเนื้อที่ 1 ไร่ เมื่อมีการระบาดของแมลง

8.ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ประมาร 50 วันหลังหว่านข้าวงอก โดยใช้ยูเรีย 10 กิโลกรัมต่อไร่

ที่มา หนังสือพืชไร่เศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การควบคุมวัชพืชในนาข้าว

การควบคุมวัชพืชในนาข้าว

วัตถุประสงค์ในการควบคุมวัชพืช คือ การลดปริมาณวัชพืชใหอยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลเสียต่อผลผลผลิตข้าว ซึ่งทำได้หลายวิธีดังนี้

1.หลังจากไถและคราดแปลงนาแล้วเก็บเศษวัชพืชออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าแปลงนามีวัชพืชมากควรไถในขณะที่ดินค่อนข้างแห้ง แล้วตากไว้ 5-7 วัน ก่อนไขน้ำเข้าแปลง จากนั้นจึงคราดกลบหมักเศษวัชพืชลงใต้ดิน ทำให้มีโอกาสเจริญเป็นต้นอ่อนน้อยลง

2.เมื่อเตรียมแปลงนาดำเสร็จแล้ว ขังน้ำไว้ในแปลงตลอดเวลาไม่น้อยกว่า 3-5 เซนติเมตร เพื่ออกันการงอกของเมล็ดวัชพืช แต่ถ้าแปลงนามีวัชพืชมากควรปล่อยให้หน้าดินแห้ง 5-7 วัน จนวัชพืชเริ่มงอกแล้วจึงไขน้ำเข้าท่วม หลังจากนั้นคราดซ้ำอีกครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ส่วนการทำนาหว่านควรเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกดี และหว่านให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง ต้นข้าวจะขึ้นปกคลุมวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วัชพืชอ่อนแอลงจนไม่สามารถแข่งขันกับข้าวได้ การใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่มากเกินไปจะทำให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างต้นข้าวทางด้านความสูงทำให้ต้นข้าวอ่อนแอและหักล้ม ผลผลิตข้าวลดลง

3.การถอนด้วยมือ เป็นวิธีที่ชาวนาปฏิบัติประจำอยู่แล้ว เป็นการลดปริมาณวัชพืชลงไปได้ระดับหนึ่ง แต่การถอนในขณะที่ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโตนั้น อาจทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นถ้าเป็นนาดำควรทิ้งระยะไว้ 10-15 วัน หลังปักดำเพื่อให้ระบบรากข้าวพัฒนาได้ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกกระทบกระเทือนจากการเหยียบย่ำและการถอนวัชพืช และในระยะนี้ วัชพืชยังมีขนาดเล็กถอนง่ายและเบาแรง ส่วนในแปลงนาหว่านควรทำหลังหว่านข้าวแล้ว 35-40 วัน

4.การเว้นช่วงทำนา โดยปลูกพืชไร่สลับกับการทำนา เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำบางชนิด ซึ่งอาจระบาดมากเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อแปลงนาแปรสภาพเป็นแปลงปลูกพืชไร่ เช่น ถั่ว พริก หอม กระเทียม และข้าวโพด จะทำให้ปริมาณวัชพืชที่เคยปรากฎในบริเวณที่ยากจะควบคุมลดลงไปได้มากเมื่อกลับมาทำนาอีกครั้ง

5.การควบคุมโดยชีววิธี โดยอาศัยหลักการเจริญเติบโตของพืชที่แตกต่างกัน เช่นขยายพันธุ์แหนแดงคลุมแปลงนาที่มีสาหร่ายไฟระบาด จะทำให้สาหร่ายไฟเน่าตายเพราะขาดแสง การปล่อยปลาบางชนิด เช่น ปลานิล ปลาใน หรือปลาตะเพียน ก็จะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้เช่นกัน

6.การใช้สารกำจัดวัชพืช วิธีนี้ควรเป็นวิธีสุดท้ายในการควบคุมวัชพืช เพราะการใช้สารเคมีเป็นเวลานานย่อมมีผลต่อดินและการเจริญเติบโตของข้าว นอกจากนั้นถ้าใช้ไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ด้วย เพราะสารกำจัดวัชพืชบางชนิดเป็นฮอร์โมน บางชนิดมีพิษร้ายแรงต่อผู้ใช้ อย่างไรก็ตามชาวนาควรรู้สภาพทางนิเวศวิทยา (ecological habitat)ของวัชพืช เพื่อที่จะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับเวลาที่สามารถกำจัดวัชพืชได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ที่มา: หนังสือพืชเศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง


การใช้ปุ๋ยสำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ พันธุ์ข้าวที่ต้องปลูกเก็บเกี่ยวได้เฉพาะในฤดูนาปีเท่านั้น มีการใช้ปุ๋ยดังนี้
1. การใช้ปุ๋ยดินนาที่เป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต) 4-12 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0 (แอมโมเนียมคลอไรด์) 4-10 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) 2-6 กก./ไร่

2. ในดินนาที่เป็นดินทราย ดินร่วนทราย ดินทรายร่วน มีการใส่ปุ๋ยดังนี้
- ปุ๋ยรองพื้นก่อนปักดำ เลือกใช้ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ
ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ในอัตรา 4 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 25 กก./ไร่
- ปุ๋ยแต่งหน้า เลือกใช้ปุ๋ย ดังนี้
ปุ๋ยสูตร 20-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต) 4-12 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 25-0-0 (แอมโมเนียมคลอไรด์) 4-10 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) 2-6 กก./ไร่

ที่มา: หนังสือปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ